คุณกรนหรือไม่?

เสียงกรนบ่งบอกถึงทางเดินหายใจส่วนบนได้แก่บริเวณลำคอนั้นแคบกว่าปกติ เสียงกรนจึงเกิดจากการพยายามออกแรงหายใจเข้าผ่านทางเดินหายใจที่แคบนั่นเอง พบว่าประมาณ 10-30% ของผู้ใหญ่มีการกรน โดยการกรนส่วนใหญ่อาจไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม เสียงกรนที่ดังถือว่าเป็นสัญญาณว่ามีสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจที่อาจเป็นอันตรายเกิดขึ้นระหว่างที่นอนหลับ ได้แก่ โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA)

โรคนอนหยุดหายใจชนิดอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คืออะไร?

ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและช่วยขยายทางเดินหายใจในช่องคอจะหย่อนตัวลง ซึ่งภาวะนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเด็กหรือคนทั่วไป แต่ในผู้ป่วย OSA ทางเดินหายใจจะตีบแคบลงมาก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น สมองจะรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มแรงในการหายใจ สิ่งนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่นเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่องคอกลับมาตึงตัวและเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ นับสิบหรือถึงร้อยครั้งในแต่ละคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับและส่งผลให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอขณะนอนหลับ

normalsnoringOSA
เมื่อไรที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นโรค OSA?

1. เสียงกรนที่ดังแม้กระทั่งปิดประตูยังได้ยิน

2. ลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยเหมือนอาการสำลักขณะนอนหลับ หรือมีผู้สังเกตเห็นว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ

3. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ

4. ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม

5. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า

6. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน

7. ความรู้สึกทางเพศลดลง

โรค OSA หากไม่รักษาจะเกิดผลเสียอย่างไร

1. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานที่ต้องใช้สมาธิหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนได้

2. เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน โรคซึมเศร้า และโรคอื่นๆ ตามมาได้

โรค OSA มีแนวทางการวินิจฉัยและรักษาอย่างไรบ้าง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะซักถามอาการต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น และอาจพิจารณาส่งตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) จำนวน 1-2 ครั้ง เพื่อประเมินว่าหากมีโรค OSA จริง จะมีความรุนแรงของโรคอยู่ในระดับใด (น้อย ปานกลาง รุนแรง) เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมแก่ผู้ป่วยต่อไป
cpap


แนวทางการรักษาผู้ป่วย OSA แบ่งเป็น

การรักษาเฉพาะโรค:

1. การใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (Positive Airway Pressure: PAP) ปัจจุบันถือว่าเป็นการรักษาหลักและเป็นการรักษาที่ได้ผลดีมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความรุนแรงปานกลางและรุนแรงมาก

2. การใส่อุปกรณ์ทางทันตกรรม เหมาะสำหรับกลุ่มที่รุนแรงน้อยหรือรุนแรงปานกลาง

3. การผ่าตัดแก้ไขทางเดินหายใจในส่วนต่างๆที่มีภาวะตีบแคบ เช่น การผ่าตัดต่อมทอลซิล (โดยเฉพาะในเด็ก) การผ่าตัดแก้ไขผนังกั้นจมูกคด/เพดานอ่อน/กระดูกกราม โดยผลของการผ่าตัดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

การให้คำแนะนำทั่วไป:

ได้แก่ การลดน้ำหนัก การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์และบุหรี่ ยานอนหลับต่างๆ การนอนตะแคง สิ่งเหล่านี้เป็นการรักษาเสริม เพื่อช่วยให้การรักษาผู้ป่วย OSA ได้ผลมากขึ้น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาโทรสอบถามศูนย์ตรวจการนอนหลับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตึกคัคณางค์ ชั้น 8 ที่หมายเลข 02-256-4963 ในวันและเวลาราชการ หรือ หากต้องการติดต่อนัดหมายเพื่อรับบริการตรวจ รักษาจากแพทย์ที่คลินิกเฉพาะทางด้านการนอนหลับ ทุกวันจันทร์ช่วงบ่ายเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่ตึก ภปร. ชั้น 10 เวลา13.00-16.00 น. สามารถมาติดต่อทำนัดด้วยตนเอง หรือโทรสอบถามที่หมายเลข 02-256-5223 ในวันและเวลาราชการ